พระราชบัญญัติ
ลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ ๒)
พ.ศ. ๒๕๕๘
___________________________________
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๘
เป็นปีที่ ๗๐ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ
ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคําแนะนําและยินยอมของ
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๘” มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกําหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศ
ในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้เพิ่มบทนิยามคําว่า “ข้อมูลการบริหารสิทธิ” “มาตรการทางเทคโนโลยี” และ
“การหลบเลี่ยงมาตรการทางเทคโนโลยี” ระหว่างบทนิยามคําว่า “การโฆษณา” และ “พนักงานเจ้าหน้าที่”
ในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗
- ข้อมูลการบริหารสิทธิ” หมายความว่า ข้อมูลที่บ่งชี้ถึงผู้สร้างสรรค์ งานสร้างสรรค์ นักแสดง
การแสดง เจ้าของลิขสิทธิ์ หรือระยะเวลาและเงื่อนไขการใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ ตลอดจนตัวเลขหรือรหัส
แทนข้อมูลดังกล่าว โดยข้อมูลเช่นว่านี้ติดอยู่หรือปรากฏเกี่ยวข้องกับงานอันมีลิขสิทธิ์หรือสิ่งบันทึกการแสดง
- มาตรการทางเทคโนโลยี” หมายความว่า เทคโนโลยีที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันการทําซ้ําหรือ
ควบคุมการเข้าถึงงานอันมีลิขสิทธิ์หรือสิ่งบันทึกการแสดง โดยเทคโนโลยีเช่นว่านี้ได้นํามาใช้กับงาน
อันมีลิขสิทธิ์หรือสิ่งบันทึกการแสดงนั้นอย่างมีประสิทธิภาพ
- การหลบเลี่ยงมาตรการทางเทคโนโลยี” หมายความว่า การกระทําด้วยประการใด ๆ ที่ทําให้
มาตรการทางเทคโนโลยีไม่เกิดผล”
มาตรา ๔ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๓๒/๑ มาตรา ๓๒/๒ และมาตรา ๓๒/๓ แห่ง
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗
- มาตรา ๓๒/๑ การจําหน่ายต้นฉบับหรือสําเนางานอันมีลิขสิทธิ์โดยผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธ์ในต ิ ้นฉบับ
หรือสําเนางานอันมีลิขสิทธิ์นั้นโดยชอบด้วยกฎหมาย มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
- มาตรา ๓๒/๒ การกระทําแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ที่ทําหรือได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายในระบบคอมพิวเตอร์
ที่มีลักษณะเป็นการทําซ้ําที่จําเป็นต้องมีสําหรับการนําสําเนามาใช้เพื่อให้อุปกรณ์ที่ใช้ในระบบคอมพิวเตอร์
หรือกระบวนการส่งงานอันมีลิขสิทธิ์ทางระบบคอมพิวเตอร์ทํางานได้ตามปกติ มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
- มาตรา ๓๒/๓ ในกรณีที่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์ในระบบคอมพิวเตอร์ของ
ผู้ให้บริการ เจ้าของลิขสิทธิ์อาจยื่นคําร้องต่อศาลเพื่อมีคําสั่งให้ผู้ให้บริการระงับการละเมิดลิขสิทธิ์นั้น
เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ผู้ให้บริการ หมายความว่า
(๑) ผู้ให้บริการแก่บุคคลอื่นในการเข้าสู่อินเทอร์เน็ต หรือให้สามารถติดต่อถึงกันโดยประการอื่น
โดยผ่านทางระบบคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการในนามของตนเองหรือในนามหรือเพื่อประโยชน์
ของบุคคลอื่น
(๒) ผู้ให้บริการเก็บรักษาข้อมูลคอมพิวเตอร์เพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น
คำร้องตามวรรคหนึ่ง ต้องมีรายละเอียดโดยชัดแจ้งซึ่งข้อมูล หลักฐานและคําขอบังคับ ดังต่อไปนี้
(๑) ชื่อและที่อยู่ของผู้ให้บริการ
(๒) งานอันมีลิขสิทธิ์ที่อ้างว่าถูกละเมิดลิขสิทธิ์
(๓) งานที่อ้างว่าได้ทําขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์
(๔) กระบวนการสืบทราบ วันและเวลาที่พบการกระทํา และการกระทําหรือพฤติการณ์ ตลอดทั้ง
หลักฐานเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธ์ิ
(๕) ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการกระทําที่อ้างว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
(๖) คําขอบังคับให้ผู้ให้บริการนํางานที่ทําขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ของ
ผู้ให้บริการ หรือระงับการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยวิธีอื่นใด
เมื่อศาลได้รับคําร้องตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลทําการไต่สวน หากศาลเห็นว่าคําร้องมีรายละเอียด
ครบถ้วนตามวรรคสาม และมีเหตุจําเป็นที่ศาลสมควรจะมีคําสั่งอนุญาตตามคําร้องนั้น ให้ศาลมีคําสั่งให้
ผู้ให้บริการระงับการกระทําที่อ้างว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือนํางานที่อ้างว่าได้ทําขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์
ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการตามระยะเวลาที่ศาลกําหนด โดยคําสั่งศาลให้บังคับผู้ให้บริการ
ได้ทันที แล้วแจ้งคําสั่งนั้นให้ผู้ให้บริการทราบโดยไม่ชักช้า ในกรณีเช่นนี้ ให้เจ้าของลิขสิทธิ์ดําเนินคดี
ต่อผู้กระทําละเมิดลิขสิทธิ์ภายในระยะเวลาที่ศาลมีคําสั่งให้ระงับการกระทําที่อ้างว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
หรือนํางานที่อ้างว่าได้ทําขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์
ในกรณีที่ผู้ให้บริการมิใช่ผู้ควบคุม ริเริ่ม หรือสั่งการให้มีการละเมิดลิขสิทธิ์ในระบบคอมพิวเตอร์
ของผู้ให้บริการ และผู้ให้บริการนั้นได้ดําเนินการตามคําสั่งศาลตามวรรคสี่แล้ว ผู้ให้บริการไม่ต้องรับผิด
เกี่ยวกับการกระทําที่อ้างว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ที่เกิดขึ้นก่อนศาลมีคําสั่งและหลังจากคําสั่งศาลเป็นอัน
สิ้นผลแล้ว
ผู้ให้บริการไม่ต้องรับผิดต่อความเสียหายใดๆ ที่เกิดขึ้นจากการดําเนินการตามคําสั่งศาลตามวรรคสี่”
มาตรา ๕ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๕๑/๑ แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ - “มาตรา ๕๑/๑ นักแสดงย่อมมีสิทธทิี่จะแสดงว่าตนเป็นนักแสดงในการแสดงของตน และมีสิทธิ
ห้ามผู้รับโอนสิทธิของนักแสดงหรือบุคคลอื่นใดบิดเบือน ตัดทอน ดัดแปลง หรือทําโดยประการอื่นใด
แก่การแสดงนั้นจนเกิดความเสียหายต่อชื่อเสียง หรือเกียรติคุณของนักแสดง และเมื่อนักแสดงถึงแก่ความตาย
ทายาทของนักแสดงมีสิทธิฟ้องร้องบังคับตามสิทธิดังกล่าวได้ตลอดอายุแห่งการคุ้มครองสิทธิของนักแสดง
ทั้งนี้ เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นเป็นลายลักษณ์อักษร”
มาตรา ๖ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๕๓ แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ และให้ใช้
ความต่อไปนี้แทน
- “มาตรา ๕๓ ให้นํามาตรา ๓๒ มาตรา ๓๒/๒ มาตรา ๓๒/๓ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๔ มาตรา ๓๖
มาตรา ๔๒ และมาตรา ๔๓ มาใช้บังคับแก่สิทธิของนักแสดงโดยอนุโลม”
มาตรา ๗ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นหมวด ๒/๑ ข้อมูลการบริหารสิทธิและมาตรการทางเทคโนโลยี
มาตรา ๕๓/๑ มาตรา ๕๓/๒ มาตรา ๕๓/๓ มาตรา ๕๓/๔ และมาตรา ๕๓/๕ แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์
พ.ศ. ๒๕๓๗
“หมวด ๒/๑"
ข้อมูลการบริหารสิทธิและมาตรการทางเทคโนโลยี
มาตรา ๕๓/๑ การลบหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลการบริหารสิทธิ โดยรู้อยู่แล้วว่าการกระทํานั้น
อาจจูงใจให้เกิด ก่อให้เกิด ให้ความสะดวก หรือปกปิดการละเมิดลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดง ให้ถือว่าเป็น
การละเมิดข้อมูลการบริหารสิทธิ
มาตรา ๕๓/๒ ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่างานหรือสําเนางานอันมีลิขสิทธิ์นั้นได้มีการลบหรือเปลี่ยนแปลง
ข้อมูลการบริหารสิทธิ ให้ถือว่าผู้นั้นกระทําการละเมิดข้อมูลการบริหารสิทธิด้วย ถ้าได้กระทําการอย่างใด
อย่างหนึ่งแก่งานนั้นดังต่อไปนี้
(๑) นําหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจําหน่าย
(๒) เผยแพร่ต่อสาธารณชน
มาตรา ๕๓/๓ การกระทําใดๆ ดังต่อไปนี้ มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดข้อมูลการบริหารสิทธิ
(๑) การลบหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลการบริหารสิทธิโดยเจ้าพนักงานผู้มีอํานาจตามกฎหมาย
เพื่อบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย การอันจําเป็นในการป้องกันประเทศ การรักษาความมั่นคงแห่งชาติ
หรือวัตถุประสงค์อื่นในทํานองเดียวกัน
(๒) การลบหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลการบริหารสิทธิโดยสถาบันการศึกษา หอจดหมายเหตุ
ห้องสมุด หรือองค์กรแพร่เสียงแพร่ภาพสาธารณะ ที่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อหากําไร
(๓) การเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานหรือสําเนางานอันมีลิขสิทธิ์ที่มีการลบหรือเปลี่ยนแปลง
ข้อมูลการบริหารสิทธิ โดยสถาบันการศึกษา หอจดหมายเหตุ ห้องสมุด หรือองค์กรแพร่เสียงแพร่ภาพ
สาธารณะ ที่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อหากําไร
ลักษณะของข้อมูลการบริหารสิทธิตาม (๒) และงานหรือสําเนางานอันมีลิขสิทธิ์ที่มีการลบหรือ
เปลี่ยนแปลงข้อมูลการบริหารสิทธิตาม (๓) ให้เป็นไปตามที่กําหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๕๓/๔ การหลบเลี่ยงมาตรการทางเทคโนโลยีหรือการให้บริการเพื่อก่อให้เกิดการหลบเลี่ยง
มาตรการทางเทคโนโลยี โดยรู้อยู่แล้วว่าการกระทํานั้นอาจจูงใจหรือก่อให้เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์หรือสิทธิ
ของนักแสดง ให้ถือว่าเป็นการละเมิดมาตรการทางเทคโนโลยี
มาตรา ๕๓/๕ การกระทําตามมาตรา ๕๓/๔ ในกรณีดังต่อไปนี้ มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดมาตรการ
ทางเทคโนโลยี
(๑) การกระทํานั้นจําเป็นสําหรับการกระทําแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ที่ได้รับยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์
(๒) เพื่อวิเคราะห์องค์ประกอบที่จําเป็นของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการใช้งานร่วมกับ
โปรแกรมคอมพิวเตอร์อื่น
(๓) เพื่อประโยชน์แห่งการวิจัย วิเคราะห์ และหาข้อบกพร่องของเทคโนโลยีการเข้ารหัส
โดยผู้กระทําต้องได้มาซึ่งงานหรือสําเนางานอันมีลิขสิทธิ์โดยชอบด้วยกฎหมายและได้ใช้ความพยายาม
โดยสุจริตในการขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์แล้ว
(๔) เพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะในการทดสอบ ตรวจสอบ หรือแก้ไขระบบความมั่นคงปลอดภัย
ของคอมพิวเตอร์ ของระบบคอมพิวเตอร์ หรือของเครือข่ายคอมพิวเตอร์ โดยได้รับอนุญาตจากเจ้าของคอมพิวเตอร์
ระบบคอมพิวเตอร์ หรือเครือข่ายคอมพิวเตอร์ แล้วแต่กรณี
(๕) เพื่อระงับการทํางานของมาตรการทางเทคโนโลยีในส่วนที่เกี่ยวกับการรวบรวมหรือกระจาย
ข้อมูลบ่งชี้ส่วนบุคคลที่สะท้อนให้เห็นถึงกิจกรรมบนอินเทอร์เน็ตของผู้ที่เข้าถึงงานอันมีลิขสิทธิ์
โดยการกระทํานั้นต้องไม่กระทบต่อการเข้าถึงงานอันมีลิขสิทธิ์โดยบุคคลอื่น
(๖) การกระทําโดยเจ้าพนักงานผู้มีอํานาจตามกฎหมาย เพื่อบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย
การอันจําเป็นในการป้องกันประเทศ การรักษาความมั่นคงแห่งชาติหรือวัตถุประสงค์อื่นในทํานองเดียวกัน
(๗) การกระทําโดยสถาบันการศึกษา หอจดหมายเหตุ ห้องสมุด หรือองค์กรแพร่เสียงแพร่ภาพ
สาธารณะ ที่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อหากําไร เพื่อเข้าถึงงานอันมีลิขสิทธิ์ที่ไม่อาจเข้าถึงได้ด้วยวิธีอื่น”
มาตรา ๘ ให้ยกเลิกชื่อหมวด ๖ คดีเกี่ยวกับลิขสิทธิ์และสิทธิของนักแสดง แห่งพระราชบัญญัติ
ลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“หมวด ๖
คดีเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ สิทธิของนักแสดง
ข้อมูลการบริหารสิทธิ และมาตรการทางเทคโนโลยี”
มาตรา ๙ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสองของมาตรา ๖๔ แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์
พ.ศ. ๒๕๓๗
“ในกรณีที่ปรากฏหลักฐานชัดแจ้งว่าการละเมิดลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดงเป็นการกระทํา
โดยจงใจหรือมีเจตนาเป็นเหตุให้งานอันมีลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดงสามารถเข้าถึงโดยสาธารณชน
ได้อย่างแพร่หลาย ให้ศาลมีอํานาจสั่งให้ผู้ละเมิดจ่ายค่าเสียหายเพิ่มขึ้นไม่เกินสองเท่าของค่าเสียหาย
ตามวรรคหนึ่ง”
มาตรา ๑๐ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๖๕/๑ แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ - “มาตรา ๖๕/๑ ให้นํามาตรา ๖๓ มาตรา ๖๔ และมาตรา ๖๕ มาใช้บังคับแก่การฟ้องคดี
เกี่ยวกับข้อมูลการบริหารสิทธิและมาตรการทางเทคโนโลยีโดยอนุโลม”
มาตรา ๑๑ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๗๐/๑ แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ - “มาตรา ๗๐/๑ ผู้ใดกระทําการละเมิดข้อมูลการบริหารสิทธิตามมาตรา ๕๓/๑ หรือมาตรา ๕๓/๒
หรือละเมิดมาตรการทางเทคโนโลยตามมาตรา ี ๕๓/๔ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท
ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทําเพื่อการค้า ผู้กระทําต้องระวางโทษจําคุก
ตั้งแต่สามเดือนถึงสองปี หรือปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงสี่แสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ”
มาตรา ๑๒ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๗๕ แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ และให้ใช้
ความต่อไปนี้แทน
- “มาตรา ๗๕ บรรดาสิ่งที่ได้ทําขึ้นหรือนําเข้ามาในราชอาณาจักรอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
หรือสิทธิของนักแสดง และสิ่งที่ได้ใช้ในการกระทําความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ริบเสียทั้งสิ้น
หรือในกรณีที่ศาลเห็นสมควร ศาลอาจสั่งให้ทําให้สิ่งนั้นใช้ไม่ได้หรือจะสั่งทําลายสิ่งนั้นก็ได้ โดยให้ผู้กระทํา
ละเมิดเสียค่าใช้จ่ายในการนั้น”
มาตรา ๑๓ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๗๗ แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ และให้ใช้
ความต่อไปนี้แทน
- “มาตรา ๗๗ ความผิดตามมาตรา ๖๙ วรรคหนึ่ง มาตรา ๗๐ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๗๐/๑
วรรคหนึ่ง ให้อธิบดีมีอํานาจเปรียบเทียบได้”
มาตรา ๑๔ บรรดาคดีละเมิดลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดงที่มีการฟ้องคดีอาญาไว้ก่อนวันที่
พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับและยังไม่ถึงที่สุด ให้นํามาตรา ๗๕ แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗
ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ มาใช้บังคับกับสิ่งที่ได้ทําขึ้นหรือนําเข้ามาในราชอาณาจักรอันเป็น
การละเมิดลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดง
มาตรา ๑๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี
วิดีโอเกี่ยวกับ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฉบับล่าสุด(พ.ศ. 2558)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น